เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน




คือบัณฑิตเพลิงชมพูครุศาสตร์
มหาบัณฑิตสมมาดสาวอักษร
จามจุรีศรีจุฬาถิ่นนาคร
ที่เสกพรให้เป็น"ครู"รู้ค่างาน

ที่มาของเรียงร้อยกานท์เรียงล้านกลอน

รวบรวมงานกรองคำของนัยนาในวันวานและวันนี้ เขียนในหลายวาระ มอบให้ใครหลายคน บางคนที่จากไปและบางคนที่ยังอยู่ เป็นงานชิ้นเล็กๆที่ทรงคุณค่าในความรู้สึก ควรค่าแก่การจดจำและจารึก







วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เขียนถึง " ตำนานเบ็ญจะมะมหาราช "

                                   ตำนาน "เบ็ญจะมะมหาราช" 
( กาพย์ฉบัง ๑๖ )


   ๐ คือตำนานโรงเรียนเก่า              " เบ็ญฯ " ของพวกเรา
เลือดเขียว-แดงผู้องอาจ
   ๐ " เบ็ญจะมะมหาราช "             ปิยะจอมปราชญ์
จุลจอมเกล้าฯ ธ บัญชา
   ๐ พระราชทานทรัพย์มา                สิบชั่งเงินตรา
เกื้อหนุนการเรียนการสอน
   ๐ " สองสี่สี่ศูนย์ " สร้างก่อน        ประดับนคร
" อุบลวิทยาคม "
   ๐ " สองสี่ห้าแปด " เหมาะสม       ย้ายมาเพาะบ่ม
ณ ทุ่งศรีเมืองไพศาล 
   ๐ " เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ " ภูบาล      พระทรงประทาน
ตั้งชื่อเป็นนามมงคล
   ๐ " โรงเรียนตัวอย่าง ยินยล        ประจำมณฑล
อุบลราชธานี
   เบ็ญจะมะมหาราช " นี้            ถวายองค์ภูมี
พระพุทธเจ้าหลวง-บิดา
   ๐ จึ่ง " ยี่สิบแปดกันยา               วันสถาปนา
โรงเรียน " แห่งนี้นานเนา
   ๐ " สองสี่เจ็ดแปด " นั้นเล่า        อาคารไม้-เงา
วาววับประดับมุมเมือง
   ๐ ไม้เนื้อแข็งมลังเมลือง               ทิพย์ทองทาบเนื่อง
ไข่ไก่เหลืองนวลสีสวย
   ๐ น้ำตาลคาดกรอบคิ้วด้วย           แดงคล้ำรื่นรวย
ไม้สักหน้าต่างประตู
   ๐ สามหลังสองชั้นงามหรู            ตระหง่านเชิดชู
ยี่สิบห้องเรียนอาคาร
   ๐ " พระสาโรจน์รัตนนิมมาน "    ช่างผู้เชี่ยวชาญ
สถาปนิกกระทรวงศึกษาฯ
   ๐ ผ่านกาล..แปลงเปลี่ยนสีฟ้า-      อมเทาสง่า
จวบจนคร่ำคร่าลายไม้
   ๐ " สองห้าหนึ่งหก " ย้ายไป        ท่าวังหินใหม่
ตราบจนวันนี้มีมา
   ๐ " สองห้าสี่ห้า " นั้นหนา           "กรมศิลปา-
กร" ยกเป็นโบราณสถาน
   ๐ วันนี้คือทิพย์พิมาน                    งามเด่นอาคาร
" พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลฯ "
   ๐ เกริกเกียรติเป็นศรียามยล           ทรงค่างามล้น
ผู้คนเล่าขานตำนาน
   ๐ คืนกลับยัง " สีเก่า " กาล           เบ็ญ ' แบบโบราณ
คู่บ้านคู่ " เมืองดอกบัว "


ที่มา  :  เขียนพรรณนาเมื่อครั้งไปเยือนอาคารเก่าโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานีหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ - พ.ศ. ๒๕๕๐ และล่าสุด  พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง
กระทั่งปัจจุบันที่กำลังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุบลฯ นับเป็นการอนุรักษ์อาคารไม้เก่าแก่ที่ควรค่าแก่การภาคภูมิใจ