เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน




คือบัณฑิตเพลิงชมพูครุศาสตร์
มหาบัณฑิตสมมาดสาวอักษร
จามจุรีศรีจุฬาถิ่นนาคร
ที่เสกพรให้เป็น"ครู"รู้ค่างาน

ที่มาของเรียงร้อยกานท์เรียงล้านกลอน

รวบรวมงานกรองคำของนัยนาในวันวานและวันนี้ เขียนในหลายวาระ มอบให้ใครหลายคน บางคนที่จากไปและบางคนที่ยังอยู่ เป็นงานชิ้นเล็กๆที่ทรงคุณค่าในความรู้สึก ควรค่าแก่การจดจำและจารึก







วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เขียนให้กวี " เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ " (๔)

                                ตาม " แม่น้ำรำลึก"
       คน "ใบไม้"
        หวังหลับใหลใต้ลั่นทมจมดินนั่น
                แล้ว"มะกอกเต็มตะกร้า"ปาไปนั้น
                     ถูกใจหลงงงงัน..ใครกันแพ้
       จึง "หลงทางกลางทุ่ง" มุ่งไขว่คว้า
           แล้วเหว่ว้าบน "ลานดิน" ดิ้นเลียแผล
                วิ่งผ่านพ้น "สะพาน" อันเดียวแด
                     ลอย "บึงบัว" ของตาแก่แต่เห็น "ควาย"
       ไปที่ร้าน "ช่างตัดผม" คมคอเหล้า
            ร้อยเรื่องเก่าเมาแต่เช้ากระทั่งสาย
                คืนความหลัง "กระโจมฟาง" อันพร่างพราย  
                     ฤาความรักแตกสลายวันวัยนั้น
       ยินเสียง "นก" สกุณาคราผินผก   
            ลม "ว่าว" วกวนเร่ห่างเหหัน 
                เปิด "ประตู" เห็นกรุ่นไอละอองอัน
                     หม่นสลัวเป็นกรอบกั้นธารชีวิต
      หลงแอบเล่น "ซ่อน-หา" กับผีเพื่อน
            จึงลอยเลื่อนชะตากรรมถามถูก-ผิด 
                ลืมแม้ "สวน" เสน่หาเยาวมิตร
                     ผู้เนาชิดอิงแนบเคยแอบใจ
      สุม "กองไฟฤดูหนาว" อุ่นร้าวอก
            ละเมอพกเพ้อดาวจนเดือนไหว
                มอง "หมู่เมฆ" เมียงฟ้ามารำไร
                   "ลาวดวงเดือน" ค่ำคืนไหนไม่เคยพบ
     เห็นแต่ "หมาละเมอ" เพ้อหาลูก
           รักพันผูกเพียงใดใคร่ประสบ
             " เพลงกล่อมลูก" เสียงขาดหายคล้ายเลือนลบ 
                   เสียงหอนกลบ "แสงดาวฤดูร้อน"
     ฟังเสียงขลุ่ยครางครวญทวนเสียงไห้
          โอ้ดาวจันทร์เป็นใจไม่หลบร่อน
              เผา "ความฝันฤดูฝน" จนซ้ำซ้อน
                   เฝ้าตามฝันซุกซ่อนย้อน "ลำราง"
     เขาผู้ไร้ใครใครในดวงตา
           ระบายฟ้าสีน้ำเงินเหมือนเพลินสร้าง
               ให้โศกตรมกลมเกลียวเหนี่ยวนำทาง
                  แล้วแปลงร่างเป็น "แมวหินบนหลังคา"
     ซุกซุ่มซ่อนซึมเซาแซมเศร้าสร้อย 
           หวนละห้อยอุ่นอกไอร่ำไห้หา
                เห็นเงาเงียบใน "โอ่งน้ำ" ไม่นำพา
                     ระเบิดบ้ากรีดร้องในข้องคับ  
     จึงมีเสียง "หนังสติ๊ก" ที่ง้างยิง
          เป็นเป้านิ่งมิติงไหวดุจใจดับ
               เห็น "ต้นหว้า" เสียดฟ้ากว้างกลับไกลลับ
                     จะจูบจับจนเจียนใจจะจากจร 
     ปั่น "จักรยาน" ไปเจอ "ไก่ในหนังสือ
          บ้านแม่น้ำ" คนก็ลือราวฝันหลอน
              คนไกลบ้านยังลอยเร่หาเปลนอน
                    เอื้ออาทรมีบ้างไหม..จากใจนั้น
     ดับ "ตะเกียง" เพียงเพื่อจะพร่ำพ้อ
           จำนนต่อโชคชะตาที่พร่าขวัญ
               เปรี้ยง!เสียงปืนสะท้านดินและดาวจันทร์
                   บั่น "หน้าต่าง" บานเก่าเผาเรือนร้าง
     หลีกลี้กายหลบหายลง "ใต้ถุน"
           ซบเซซุนแทรกดินทรายหมายซ่อนร่าง
               "ครกกระเดื่อง"ตอกตำย้ำครืนคราง
                    จะลอย "เรือ" เวิ้งว้างเพียงพรางกาย
     โค้งเรียว "รุ้ง" รุ่งพราวเกี่ยวราวฟ้า
           ตะกายตาหาสรรพ์สีที่พร่างสาย
                เลียบ "ชายฝั่ง" แล้วก่อสร้างปราสาททราย
                     คลื่นซัดซ่าแหลกสลายสู่ทรายซ้ำ
      กลับคืน "ชานชรา" คราฟ้าพลบ
           ซวนสลบซบซ้ำจนย่ำค่ำ
                เหม่อแหงนหน้ามองฟ้าหาดาวนำ
                    "ดาวประจำเมือง" ฉายคล้ายเหลียวแล
      วักน้ำใสไหนหนา "ปลาตกครอก"
           เป็นลูกรอกต้ม-ยำ-ย่างหลังเหวี่ยงแห
                ขย้อนขยักกินลาบปลา..มาแท้แท้
                    โอ้..ปลาแล่ "ปลาเร่-(และ)เปลร้าง"
      อรุณรุ่ง..เลื่อมเรืองเหลืองแดดสี
           "สารภีเดือนกุมภา" ....ฟ้าสล้าง 
                 คิดถึง-อุ่นโอบอ้อมหอมเบาบาง 
                      กลิ่นเจือจาง..กลิ่นท้องทุ่งรุ้งเรียวทอง
      และ "ใต้ดวงตะวัน" วันแดดสวย
            เขาคืน...ถิ่นแฝงร่างด้วยละอองหมอง
                 มือกอดกุม "ดอกไม้สีขาว"ประคับประคอง
                      เสียงอกร้องก้องกึกลึกข้างใน
      เก้าอี้โยกตัวเก่าเขานิ่งคิด
            หนอชีวิต..ลิขิตตน..วกวนไหว
                 มอง "แม่น้ำรำลึก" กว้างลึกไกล
                       ขุ่นหรือใสชีวิต..ไหล..เหมือนสายน้ำ.   

ที่มา :  เขียนให้กวีซีไรต์ คุณเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เมื่อ ๑๘  ตุลาคม ๒๕๔๗
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น